การเทศน์มหาชาติ
เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดกเป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐินผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดก อีกวันหนึ่งวันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดกตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด๑๓ กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปี่พาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ด้วย
วันรุ่งขึ้น ทำบุญเลี้ยงพระอีก แล้วมีเทศน์จตุราริยสัจจกถาในระหว่างเพลจบแล้วเลี้ยงพระเพล
เป็นอันเสร็จพิธีระเบียบพิธีในการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมกันเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดก โดยนำเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสาและบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ ประดับธงทิว และราชวัติ ฉัตร ตามสมควร
๒) ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะใช้อ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่น้ำสะอาดเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น้ำนี้ตั้งหน้าธรรมาสน์ กลางบริเวณพิธี
๓) เตรียมเทียนเล็ก ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่มแล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ให้ทราบว่ามัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นออกจุดบูชาติดรอบ ๆ ภาชนะน้ำต่อกันไปจนจบกัณฑ์ให้หมดมัดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วนจำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแห่งนิยมทำธงเล็ก ๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นอย่างเทียน แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วย แต่การใช้ธงไม่เป็นที่นิยม เช่นเทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้น ๆการเทศน์เวสสันดร มีวิธีเทศน์เป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขึ้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริงแต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า“งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐ การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด๑๓ กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังตำนานต่อไปนี้ตำนานเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
การเทศน์มหาชาติ คือ การมหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สูงอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญ
เป็นเทศกาลที่คงความหมายอย่างแท้จริงการเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่รับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอกข้าวสารการเทศน์ในสมัยก่อนพระเจ้าของกัณฑ์จะอ่านจากอักษรธรรม (อักษรลาว) ซึ่งจารลงบนใบลานเป็นแผ่นยาว คำว่า “จาร” มาจากภาษาเขมร แปลว่า การเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน แต่ปัจจุบันจะนิยมพิมพ์ลงบนใบลานเป็นตัวหนังสือไทยปัจจุบันเป็นเรื่องราวในแต่ละกัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสำหรับพระรุ่นใหม่ เมื่อจบกัณฑ์จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ การเป็นเจ้าของกัณฑ์ในหมู่บ้านในชนบทอาจแบ่งเจ้าภาพเป็นคุ้ม เทศน์มหาชาติมี ๑๓ กัณฑ์ดังนี้ คือ
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร
กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์
กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศ
กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน
กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน
กัณฑ์ที่ ๘ กัณฑ์กุมาร
กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช
กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์
กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์
ที่มา:จากฟ้าสู่ดิน. การเทศน์มหาชาติ
,http://www.dra.go.th/module/attach_media/sheet7820090306113309.pdf 5 ส.ค.53,08.12น.
<ผุสสดี>
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ทำไมต้องแต่งแหล่สรุปมหาชาติ?